องค์ประกอบของจิตสาธารณะ

องค์ประกอบของจิตสาธารณะ
องค์ประกอบของจิตสำนึกสาธารณะ หรือจิตสาธารณะนั้น มีการแบ่งองค์ประกอบที่แตกต่างกันไปตามระดับอายุของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ซึ่งได้แบ่งองค์ประกอบของจิตสำนึก ไว้ ดังนี้
สมพงษ์ สิงหะพล (2542: 15 – 16) ได้กล่าวถึงจิตสำนึกว่า มีอยู่ 3 ด้านหลักๆ คือ1. จิตสำนึกเกี่ยวกับตนเอง (Self Consciousness) เป็นจิตสำนึกเพื่อพัฒนาตนเองทำให้ตนเองเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จิตสำนึกด้านนี้ การศึกษาไทยมุ่งมั่นปลูกฝังมานาน เกิดบ้างไม่เกิดบ้าง ไปตามสภาพการณ์ เป็นจิตสำนึกแบบคลาสสิกที่ทุกสังคมพยายามเหมือนกันที่จะ สร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ เช่น ความขยัน ความรับผิดชอบ ความมานะอดทน เป็นต้น เป็นจิตสำนึกที่ถูกปลูกฝัง
และมีมานานตามสภาพสังคมไทย
2. จิตสำนึกเกี่ยวกับผู้อื่น (Others Oriented Consciousness) เป็นจิตสำนึกของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของคนในกลุ่มชนหนึ่ง สังคมหนึ่ง เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสามัคคี เป็นต้น เป็นจิตสำนึกที่คนไทยส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมมาจากพื้นฐานดั้งเดิมของวัฒนธรรมไทยอยู่แล้วสร้างกันได้ไม่ยากนัก
3. จิตสำนึกเกี่ยวกับสังคม หรือจิตสำนึกสาธารณะ (Social or Public Consciousness) เป็นจิตสำนึกที่ตระหนักถึงความสำคัญในการอยู่ร่วมกัน หรือคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมความสัมพันธ์ เป็น กลุ่มเดียวกัน เป็นจิตสำนึกที่คนไทยยังไม่ค่อยมี และขาดกันอยู่มาก เพราะพื้นฐานความเป็นมาของสังคมไทย สมควรที่จะรีบพัฒนาขึ้นโดยเร็ว เช่น จิตสำนึกด้านเศรษฐกิจ จิตสำนึกด้านการเมือง จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม จิตสำนึกด้านสุขภาพ เป็นต้น
นอกจากนั้นมีการศึกษาองค์ประกอบของจิตสาธารณะ ในลักษณะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์สาธารณสมบัติต่างๆ มีการศึกษาองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป และใช้คำที่แตกต่างกันไปตามระดับอายุของกลุ่มที่ศึกษา ดังรายละเอียด ดังนี้
สิริมา ภิญโญอนันตพงษ์ (2544: 26 – 31) ได้กล่าวถึงจิตสาธารณะของเด็กในลักษณะของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ว่า วัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ปี เป็นระยะที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ สังคม และบุคลิกภาพ เป็นวัยที่เรียกว่า ช่วงแห่งพลังการเจริญเติบโต งอกงามสำหรับชีวิต แนวความคิดเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากการมองเด็กในทัศนะของการที่เด็กมีพัฒนาการด้านต่างๆ แตกต่างจากเด็กวัยอื่นๆ ในช่วงชีวิตของความเป็นมนุษย์ ดังนั้น หลักการปลูกฝัง เด็กวัยนี้ให้เรียนรู้เกิดความรักสิ่งแวดล้อม ควรคำนึงถึงองค์ประกอบ ดังนี้
1. หลักการเรียนรู้ การเรียนรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยอาศัยสภาพการณ์ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับ การเรียนรู้จะทำให้มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
2. กระบวนการปลูกฝังเด็กปฐมวัยให้รักสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ปัจจัย 5 ด้าน คือการให้ความรู้ การสร้างความเข้าใจ การสร้างกรอบแนวคิด การเสริมสร้างทักษะ และการเสริมสร้างเจตคติ จากกระบวนการดังกล่าว จะต้องเริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยในลักษณะของรูปธรรม แล้วสร้างความเข้าใจ และความสำคัญของสิ่งแวดล้อมต่อตนเองและมนุษย์ แล้วสร้างกรอบแนวคิดให้เด็กรับรู้ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นบริบท และเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การเสริมสร้างทักษะในการรักสิ่งแวดล้อม ต้องเกิดจากการจัดประสบการณ์ต้องให้เด็กได้ปฏิบัติจริง และควบคู่กับการเสริมสร้างเจตคติที่ดี รู้จักการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเห็นคุณค่าประโยชน์สิ่งแวดล้อมต่อตัวเอง ครอบครัว และ
สังคม เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ไม่เห็นแก่ตัว เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำเป็นตัวแบบที่ดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
กรมวิชาการ (2540: 27) ได้กล่าวไว้ในคู่มือการอบรมเลี้ยงดูเด็กระดับก่อนประถมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ โดยได้ระบุถึงเป้าหมายที่พึงประสงค์ จะให้เกิดในเด็กวัย 3 – 6 ปี ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจนตามระดับอายุดังนี้ คือ
วัย 3 – 4 ปี ทิ้งขยะให้ถูกที่ ไม่ทำลายสิ่งของเครื่องใช้ส่วนรวม
วัย 4 – 5 ปี ทิ้งขยะให้ถูกที่ รักษาสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน
วัย 5 – 6 ปี ทิ้งขยะให้ถูกที่ ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
กอบรัตน์ เรืองผกา (2532: 807 – 808) ได้สรุปถึงพฤติกรรมการรักสิ่งแวดล้อมของเด็กระดับปฐมวัย มีขอบข่ายครอบคลุมพฤติกรรมใหญ่ๆ 3 ด้าน คือ
1. การรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่ในสภาพดี ได้แก่ การรักษาความสะอาดสถานที่สิ่งของเครื่องใช้ การดูแลสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพดี การช่วยกันดูแลไม่ให้สิ่งของเครื่องใช้สูญหาย เป็นต้น
2. การถนอมใช้ทรัพยากรจากสิ่งแวดล้อมอย่างประหยัด อย่างมีคุณค่า เช่น การปิดไฟและปิดน้ำ เมื่อใช้เสร็จแล้ว การเปิดน้ำ ล้างมือเบาๆ การใช้วัสดุส่วนรวมอย่างประหยัด และเกิดคุณค่าอย่างเต็มที่ เช่น ใช้สีน้ำจากหลอด ควรบีบใช้ทีละน้อย ใช้กระดาษเขียนหนังสือให้เต็มหน้ากระดาษค่อยใช้หน้าใหม่ การหยิบใช้กระดาษ เช็ดหน้า เช็ดมือ ควรหยิบใช้ให้พอเหมาะหรือการรับประทานอาหารให้หมดอย่าเหลืออาหารทิ้งไว้
3. การจัดสิ่งแวดล้อมให้ดูสวยงาม และเป็นระเบียบ ได้แก่ การจัดห้องเรียนให้เป็นระเบียบ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ การจัดสวนดอกไม้ เป็นต้นจากการศึกองค์ประกอบของการมีจิตสำนึกสาธารณะในระดับก่อนประถมศึกษานั้น จะใช้คำว่าการรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของการมีจิตสำนึกสาธารณะ
ส่วนในระดับเด็กระดับประถมศึกษา หรือระดับอายุที่มากขึ้น มีการศึกษาเกี่ยวกับจิตสำนึกสาธารณะโดยใช้คำที่แตกต่างกันไป เช่น จิตสำนึกทางสังคม จิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติ จิตสำนึกต่อส่วนรวมโดยมีรายละเอียดองค์ประกอบที่ศึกษาแตกต่างกันไป ดังนี้
ชาย โพธิสิตา (2540: 14) ได้ศึกษาเรื่องจิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติ : ศึกษาในกรณีกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างหลายกลุ่ม คือ กลุ่มทำงานราชการ รัฐวิสาหกิจหรือทำงานสำนักงาน กลุ่มที่ทำงานรับจ้าง งานค้าขาย และธุรกิจส่วนตัว กลุ่มนักศึกษาที่สูงกว่ามัธยม และผู้ทรงคุณวุฒิโดยได้จัดองค์ประกอบของจิตสำนึกต่อสาธารณสมบัติ 4 ด้าน คือ
1. ด้านความเข้าใจเกี่ยวกับสาธารณะสมบัติ
2. ด้านภาพสะท้อนจิตสำนึกต่อสาธารณสมบัติ
3. ด้านมาตรการเสริมสร้างจิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติ
4. ด้านนโยบายและการบริหารจัดการ
โดยใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม แบบทดสอบแบบสั้น แบบสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์แบบสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และได้สรุปความหมาย จิตสำนึกต่อสาธารณสมบัติในเชิงพฤติกรรม ไว้ว่า คือ การใช้สมบัติอย่างรับผิดชอบหรือการรับผิดชอบต่อสาธารณสมบัติซึ่งมีนัยสองประการ ได้แก่
     1. รับผิดชอบต่อสาธารณสมบัติ ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้ และการกระทำที่จะก่อให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อสาธารณสมบัตินั้นๆ รวมไปถึงการถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลสาธารณสมบัติในวิสัยที่ตนสามารถทำได้
     2. การเคารพสิทธิในการใช้สาธารณสมบัติของผู้อื่น เพราะสาธารณสมบัติ คือ ของที่คนทั่วไปมีสิทธิ์ในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ ดังนั้นการใช้สาธารณสมบัติอย่างรับผิดชอบในแง่นี้จึงหมายถึงการใช้ของส่วนรวม โดยการคำนึงถึงว่าคนอื่นก็มีสิทธิ์ในการใช้เช่นเดียวกัน จะต้องไม่ยึดสาธารณสมบัตินั้นไว้เป็นของส่วนตัว และไม่ปิดกั้นโอกาสในการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น

หฤทัย อาจปุระ  (2544: 46) ได้ใช้องค์ประกอบของการมีจิตสำนึกสาธารณะของนักศึกษาพยาบาลปี 1 – 4 ในสถาบันการศึกษาพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาองค์ประกอบ การมีจิตสำนึกสาธารณะใน 6 ด้าน คือ
1. ด้านความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
2. ด้านการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
3. ด้านความรัก ความเอื้ออาทร และความสามัคคี
4. ด้านการรับรู้ และความสามารถในการผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
5. ด้านการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาสังคม
6. ด้านการมีเครือข่ายในการนำกิจกรรมทางสังคม

ลัดดาวัลย์ เกษมเนตร (2547: 2 – 3) ได้ศึกษารูปแบบการพัฒนานักเรียนระดับประถมศึกษาให้มีจิตสาธารณะ : การศึกษาระยะยาว และใช้องค์ประกอบของจิตสาธารณะเป็น 3 องค์ประกอบ คือ
1. การหลีกเลี่ยงการใช้ หรือการกระทำ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อของส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม
2. การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสมบัติของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้
3. การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม โดยไม่ยึดครองของส่วนรวมนั้นมาเป็นของตนเอง ตลอดจนไม่ปิดกั้นโอกาสของบุคคลอื่นที่จะใช้ของส่วนรวมจากการศึกษาองค์ประกอบของจิตสำนึกสาธารณะ จากเอกสารและงานวิจัยดังกล่าว มีการศึกษาจิตสาธารณะในองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้องค์ประกอบของการมีจิตสำนึกสาธารณะ จากการนิยามความหมายของจิตสาธารณะของ
 ชาย โพธิสิตา (2540: 14 – 15) และการแบ่งองค์ประกอบของจิตสาธารณะจากงานวิจัยของลัดดาวัลย์  เกษมเนตร (2546: 2 – 3) ที่ศึกษากับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะองค์ประกอบดังกล่าวสอดคล้องกับพัฒนาการทางด้านต่างๆ ของเด็กวัยที่ผู้วิจัยศึกษาและสมบัติของส่วนรวมที่ผู้วิจัยศึกษาในครั้งนี้ เป็นสมบัติส่วนรวมที่อยู่ในโรงเรียน ทั้งสมบัติส่วนรวมในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ซึ่งแบ่งองค์ประกอบของจิตสาธารณะเป็น 3 องค์ประกอบ 6 ตัวชี้วัด คือ
1. การหลีกเลี่ยงการใช้ หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสมบัติของส่วนรวมในโรงเรียนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม หมายถึง การกระทำของนักเรียนในการรักษาทรัพย์สินการดูแลรักษาความสะอาด การไม่ทำลายทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติในโรงเรียน ทั้งในห้องเรียนเช่น โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ ชั้นวางหนังสือ ถังขยะ ไม้กวาด เป็นต้น และสมบัตินอกห้องเรียน เช่น ห้องอาหาร ห้องสุขา ห้องปฏิบัติการต่างๆ ห้องสมุด สวนหย่อมในบริเวณโรงเรียน สนามเด็กเล่น เป็นต้น โดยวัดได้จาก 2 ตัวชี้วัดคือ
     1.1 การดูแลรักษาสมบัติของส่วนรวมในโรงเรียน คือ เมื่อมีการใช้แล้ว มีการเก็บรักษา ใช้แล้วเก็บเข้าที่เดิม การไม่ทิ้งเศษขยะในห้องเรียนและบริเวณโรงเรียน การไม่ขีดเขียนหรือทำลายวัสดุและอุปกรณ์ในห้องเรียนและในโรงเรียน เพื่อให้ของส่วนรวมอยู่ในสภาพดี เช่น การใช้ไม้กวาดแล้วเก็บเข้าที่เดิม การใช้หนังสือในห้องสมุดแล้วเก็บเข้าที่ การใช้อุปกรณ์กีฬาแล้วนำส่งคืน การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แล้วปิดเครื่องและจัดเข้าที่เดิม
     1.2 ลักษณะของการใช้ คือ การใช้ของส่วนรวมในโรงเรียนอย่างประหยัด ใช้อย่างทะนุถนอม ใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้ของส่วนรวมมีความคงทนใช้ได้นาน เช่น การเปิดอ่านหนังสือเบาๆ การใช้แก้วน้ำรองน้ำดื่ม การปิดไฟและพัดลมก่อนออกจากห้อง การใช้แป้นเครื่องคอมพิวเตอร์เบาๆ
2. การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้ หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงออกถึง การมุ่งปฏิบัติเพื่อส่วนรวมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในโรงเรียน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่ตนสามารถทำได้ โดยวัดได้จาก 2 ตัวชี้วัด คือ
     2.1 การปฏิบัติตามหน้าที่ ที่ถูกกำหนดในการดูแลรักษาสมบัติของส่วนรวม ในโรงเรียน คือ การทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการให้ดูแลรักษาสมบัติของโรงเรียน เช่น การทำหน้าที่เวรทำความสะอาดห้องเรียน การทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนการดูแลห้องสมุด และการดูแลห้องปฏิบัติการอื่นๆที่ได้รับมอบหมาย
     2.2 การอาสาปฏิบัติหน้าที่บางอย่างเพื่อส่วนรวมในโรงเรียน คือ การช่วยทำหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในวิสัยที่ตนสามารถทำได้ เช่น การอาสานำขยะไปทิ้ง การอาสาช่วยเก็บสิ่งของ การอาสากวาดห้องเรียนหรือบริเวณโรงเรียน
3. การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวมในโรงเรียนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มโดยไม่ยึดครองของส่วนรวมนั้นมาเป็นของตนเอง ตลอดจนไม่ปิดกั้นโอกาสของบุคคลอื่นที่จะใช้ของส่วนรวมนั้น หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงออกถึง การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวม โดยวัดได้จาก 2 ตัวชี้วัด คือ
     3.1 การไม่ยึดครองของส่วนรวมในโรงเรียนมาเป็นสมบัติของตนเองคือ การไม่นำสมบัติของโรงเรียนมาเก็บไว้ที่ตน เช่น การไม่นำสีของโรงเรียนไประบายภาพที่บ้านการไม่นำอุปกรณ์กีฬาไปเล่นที่บ้าน
     3.2 การแบ่งปัน หรือการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้ใช้ของส่วนรวมในโรงเรียน คือ การแบ่งปันสิ่งของกับผู้อื่น การไม่แสดงอาการหึงหวงสมบัติของส่วนรวม เช่น การไม่นำหนังสือห้องสมุดมาเก็บไว้ที่ตนหลายๆ เล่ม การเปลี่ยนให้เพื่อนใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อตนใช้เสร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น