ความหมายของจิตสาธารณะ

ความหมายของจิตสาธารณะ
คำว่า จิตสาธารณะ (Public Mind) หรือจิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness)เป็น คำใหม่ที่มีใช้เมื่อไม่นานมานี้ และเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ซึ่งมีผู้ให้ความหมายของจิตสำนึกสาธารณะหรือจิตสาธารณะ ไว้หลากหลายและมีการเรียกจิตสำนึกสาธารณะไว้แตกต่างกัน ได้แก่ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จิตสำนึกต่อสังคม จิตสำนึกต่อส่วนรวม จิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติ เป็นต้นซึ่งคำเหล่านี้ มีผู้ให้ความหมายไว้ใกล้เคียงกันเมื่อแยกศึกษาความหมายของจิตสำนึกและจิตสาธารณะมีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลากหลาย ดังนี้
ราชบัณฑิตสถาน (2538: 231) ให้ความหมายของจิตสำนึกว่า หมายถึง ภาวะที่จิตตื่นและรู้สึกตัว สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสิ่งสัมผัสได้
พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2541: 60) ได้ให้ความหมายว่า จิตสำนึกเป็นผลที่ได้มาจากการประเมินค่า การเห็นความสำคัญ ซึ่งมีฐานอยู่ที่ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม ความเห็น และความสนใจของบุคคล
จรรจา สุวรรณทัต (2535: 11) ได้ให้ความหมายว่า ความสำนึกหมายถึง การรับรู้หรือการที่บุคคลมีความรู้ในสิ่งต่างๆ การรับรู้ หรือความสำนึกของบุคคลนี้ จัดเป็นขั้นต้นของกระบวนการทางจิตหลายประเภท เป็นต้นว่า กระบวนการของการรับนวัตกรรม และกระบวนการเกิดทัศนคติ
ราจ Raj (1996: 605) กล่าว่า จิตสำนึกเป็นคำที่ไม่สามารถให้คำจำกัดความได้ชัดเจนแต่สามารถอธิบายที่ใกล้เคียงได้ 2 แนวทาง ซึ่งแนวทางแรกเป็นความคิดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง และแนวทางที่สอง หมายถึง จิตสำนึกของบุคคล เป็นความรู้สึกของบุคคลที่มีอยู่ตลอดเวลาแม้ช่วงว่างของเวลา เช่น การนอนหลับ  จากความหมายของจิตสำนึกที่กล่าวมา จึงสรุปได้ว่า จิตสำนึกเป็นพฤติกรรมภายใน อย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่แสดงออกถึงภาวะทางจิตใจที่เกี่ยวกับความรู้สึก ความคิด ความปรารถนาต่างๆ เป็นภาวะทางจิต ตื่นตัว และรู้ตัวสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้งห้า เป็นสิ่งที่เกิดจากประสบการณ์ต่างๆ ของมนุษย์ที่รวมตัวกันขึ้น และมีความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ต่างๆ เหล่านั้น และประเมินค่าสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นจิตสำนึก
คำว่าสาธารณะ (Public) เป็นคำที่มีความหมายกว้าง สามารถใช้ได้กับสิ่งของ บุคคล สถานที่และการกระทำ ซึ่งมีการให้ความหมายไว้หลากหลาย ดังนี้
ราชบัณฑิตยสถาน (2538: 826) ให้ความหมายคำว่า สาธารณะ หมายถึง ทั่วไปเกี่ยวกับประชาชน และสาธารณะสมบัติว่า ทรัพย์สินส่วนรวมของประชาชน
สอ เสถบุตร (2530: 592) ได้แปลความหมายคำว่า Public เป็นภาษาไทยว่าสาธารณะซึ่งหมายถึง ที่สาธารณะ ชุมชน เปิดเผย การเผยแพร่ สิ่งที่เป็นของทั่วไป เช่น ถนนหลวง สิ่งที่เป็นของรัฐบาล และสิ่งที่เป็นของประชาชน
ซิลล์ส (Sills. 1972: 567) กล่าวว่า สาธารณะเป็นความรู้สึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
สรุปความหมายของคำว่า สาธารณะ ได้ว่า สิ่งของ บุคคล สถานที่ และการกระทำ ที่เป็นของส่วนรวม ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์เป็นเจ้าของ หวงแหนในสิ่งเหล่านั้นร่วมกัน
เมื่อรวมคำว่า จิตสำนึกและสาธารณะ จึงได้คำว่า จิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness) หรือจิตสาธารณะ (Public Mind) ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลายและมีการเรียกที่แตกต่างกัน ได้แก่การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จิตสำนึกต่อสังคม จิตสำนึกต่อส่วนรวม จิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติเป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้มีผู้ให้ความหมายไว้ใกล้เคียงกัน ดังนี้
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2543: 17) ได้ให้ความหมายของคำว่าจิตสาธารณะว่าหมายถึง ความคิดที่ไม่เห็นแก่ตัว มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้อื่นหรือสังคมพยายามฉวยโอกาสที่จะช่วยเหลืออย่างจริงจัง และมองโลกในแง่ดีบนพื้นฐานของความเป็นจริง
จิตสาธารณะเส้นทางสู่ประชาคม (2542: 9) กล่าว่า คำว่า จิตสำนึกสาธารณะ เป็นคำเดียวกับคำว่าจิตสาธารณะ ซึ่งหมายถึง ความเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ ตระหนักในสิทธิและความรับผิดชอบที่จะสร้างสรรค์สังคมส่วนรวมของคนสามัญ พลเมืองที่รุก เรียกร้องการมีส่วนร่วมและต้องการที่จะจัดการดูแลกำหนดชะตากรรมของตนและชุมชน
กนิษฐา นิทัศน์พัฒนา และคณะ (2541: 8) ได้ให้ความหมายของคำว่า จิตสำนึกสาธารณะ ว่าเป็นคำเดียวกับคำว่าจิตสำนึกทางสังคม หมายถึง การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน หรือคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมความสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกับตน
ศักดิ์ชัย นิรัญทวี (2541: 57) กล่าวว่า การมีจิตสำนึกสาธารณะคือ มีจิตใจที่คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม คำนึงถึงความสำคัญของสิ่งอันเป็นของที่ต้องใช้ หรือมีผลกระทบร่วมกันในชุมชนเช่น ป่าไม้ ความสงบของชุมชน
พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2541) ใช้คำว่าจิตสำนึกจิตสำนึก (Consciousness) เป็นสภาวะจิตใจที่เกี่ยวกับความรู้สึก ความคิด ความปรารถนาต่างๆ สภาวะจิตใจดังกล่าว เกิดการรับรู้ซึ่งมีความหมายเหมือนกับการรู้ตัว (Awareness) อันเป็นผลจากการประเมินค่า การเห็นความสำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่ได้มาจากทัศนคติ (Attitude) ความเชื่อ (Beliefs) ค่านิยม (Values) ความเห็น (Opinion)ความสนใจ (Interest) ของบุคคล คำว่าจิตสำนึกมีความหมายใกล้เคียงที่สุดกับคำว่าความเชื่อ(Beliefs) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากการรวบรวมและสัมพันธ์กันของประสบการณ์ของคน ทำหน้าที่ประเมินค่า
ของจิตใจว่าสิ่งใดเป็นสิ่งสำคัญ หากปราศจากความเชื่อประสบการณ์ต่างๆ ที่คนมีอยู่นั้น ก็จะอยู่เพียงในความทรงจำ ไม่มีส่วนใดมีความสำคัญเด่นชัดขึ้นมา แต่หากว่าประเมินค่าแล้วตระหนักถึงความสำคัญที่มีต่อสิ่งนั้นแสดงว่า จิตสำนึกถึงสิ่งนั้นๆ ของบุคคลได้เกิดขึ้นแล้ว จิตสำนึกของบุคคลเป็นสภาวะที่จิตใจก่อนการแสดงออกเชิงพฤติกรรมทางกายภาพของบุคคล การมีจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งหนึ่งไม่ทำให้คนต้องแสดงออกตามจิตสำนึกเสมอไป พฤติกรรมแสดงออกใดๆ ของมนุษย์นั้นเป็นผลมาจาก 1) ทัศนคติ 2) บรรทัดฐานของสังคม 3) นิสัย และ 4) ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังจากการทำพฤติกรรมนั้นๆ แล้ว
มัลลิกา มัติโก (2541: 5) ให้ความหมายของจิตสำนึกทางสังคมว่า เป็นการตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน หรือคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมความสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกับตน
สยามรัฐ เรืองนาม (2542: 25) ใช้คำว่า ความสำนึกเชิงสังคม หมายถึง การตื่นตัวความรู้สึกนึกคิดและความปรารถนาต่างๆ ของบุคคลในสังคมที่ต้องการเข้าไปแก้วิกฤตการณ์หรือปัญหาสังคมและก่อให้เกิดพฤติกรรมการรวมตัวเป็นกลุ่มหรือองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือภาคสังคม ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนกัน ก่อให้เกิดจิตสำนึกร่วมกัน
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (2542: 14) ได้ให้ความหมายจิตสาธารณะว่าเป็นการรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ
บุญสม หรรษาศิริพจน์ (2542: 71 – 73) ใช้คำว่า จิตสำนึกที่ดีในสังคม สังคมในที่นี้หมายถึง สังคมในชุมชนของตน การปฏิบัติตนให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อชุมชนของตน คือ การปฏิบัติตน และการมีส่วนร่วมที่ดีในกิจกรรมของชุมชน การช่วยกันดูแลชุมชนของตน การให้ความร่วมมือ การเสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ เพื่อการรักษาความปลอดภัยในชุมชน เพื่อสาธารณูปโภคในชุมชน การให้ความเป็นมิตรและมีน้ำใจต่อกัน
ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ (2542: 21 – 27) กล่าวถึง จิตสาธารณะในความหมายของฝรั่งคำว่า สาธารณะ คือ สิ่งที่ร่วมกันสร้างร่วมกันยื้อแย่ง มาจากเจ้าจากรัฐ มันเป็นกระบวนการต่อสู้ จนรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของร่วมกัน
สุชาดา จักรพิสุทธิ์ (2544: 22) กล่าวว่า จิตสำนึกสาธารณะเป็นคุณธรรม หรือข้อเรียกร้องสำหรับส่วนรวมในสภาพการณ์ที่เกิดความไม่ปกติสุข ความร่วมมือของพลเมืองในการกระทำเพื่อบ้านเมือง
หฤทัย อาจเปรุ (2544: 37) ให้ความหมาย จิตสำนึกสาธารณะ คือ ความตระหนักของบุคคลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้เกิดความรู้สึกปรารถนาที่จะช่วยเหลือสังคม ต้องการเข้าไปแก้วิกฤตการณ์ โดยรับรู้ถึงสิทธิควบคู่ไปกับหน้าที่และความรับผิดชอบ สำนึกถึงพลังของตนว่าสามารถร่วมแก้ไขปัญหาได้ และลงมือกระทำ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ โดยการเรียนรู้ และแก้ไขปัญหาร่วมกันกับคนในสังคม
ชาย โพธิสิตา และคณะ (2540: 14 – 15) ใช้คำว่า จิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติและให้ความหมายในเชิงพฤติกรรมไว้ว่า คือ การใช้สาธารณสมบัติอย่างรับผิดชอบ หรือการรับผิดชอบต่อสาธารณสมบัติ ซึ่งมีนัยสองประการ ได้แก่ 1) การรับผิดชอบต่อสาธารณสมบัติ ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้และการกระทำที่จะก่อให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อสาธารณสมบัตินั้นๆ รวมไปถึง การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลสาธารณะสมบัติในวิสัยที่ตนสามารถทำได้ 2) การเคารพสิทธิการใช้สาธารณสมบัติของผู้อื่น โดยการคำนึงว่า คนอื่นก็มีสิทธิ์ในการใช้เช่นเดียวกันจะต้องไม่ยึดสาธารณะ
สมบัตินั้นไว้เป็นของส่วนตัว และไม่ปิดกั้นโอกาสการใช้ประโยชน์สาธารณะสมบัติของผู้อื่นวิรัตน์ คำศรีจันทร์ (2544: 6) ให้ความหมายว่า จิตสำนึกสาธารณะ หมายถึงกระบวนการคิดและลักษณะของบุคคล ที่มีการปฏิบัติโดยมีกระบวนการในระดับบุคคลไปสู่สาธารณะมีความรักและรู้สึกเป็นเจ้าของสาธารณะ ต้องการที่จะทำประโยชน์มากกว่าที่จะรับจากสาธารณะ
ลัดดาวัลย์ เกษมเนตร และคณะ (2547: 2 – 3) ให้ความหมายของจิตสาธารณะหมายถึง การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม โดยพิจารณาจากความรู้ความเข้าใจหรือพฤติกรรมที่แสดงออกถึงลักษณะ ดังนี้
1. การหลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดการชำรุดเสียหายต่อของส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม และการถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้
2. การเคารพสิทธิ ในการใช้ของส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม โดยไม่ยึดครองของส่วนรวมนั้นเป็นของตนเอง ตลอดจนไม่ปิดกั้นโอกาสของบุคคลอื่นที่จะใช้ของส่วนรวมนั้น ซึ่งแบ่งนิยามออกเป็น 3 องค์ประกอบ และ 6 ตัวชี้วัด ดังตารางต่อไปนี้

ตาราง 1 แสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบและตัวชี้วัดในแต่ละองค์ประกอบของจิตสาธารณะ

องค์ประกอบ
ตัวชี้วัด
1. การหลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้
เกิดความชำรุดเสียหายต่อส่วนรวม

1.1 การดูแลรักษา
1.2 ลักษณะของการใช้

2. การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแล
2.1 การทำตามหน้าที่ที่ถูกกำหนด
2.2 การรับอาสาที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อส่วนรวม

3. การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวม
3.1 ไม่นำของส่วนรวมมาเป็นของตนเอง
3.2 แบ่งปันหรือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้ใช้ของส่วนรวม

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์ (2552: 17) กล่าวไว้ว่า จิตสาธารณะเป็นการกระทำด้วยจิตวิญญาณที่มีความรักความห่วงใย ความเอื้ออาทรต่อคนอื่นและสังคมโดยรวม การมีคุณธรรมจริยธรรม และการไม่กระทำที่เสื่อมเสียหรือเป็นปัญหาต่อสังคม ประเทศชาติ การมีจิตที่คิดสร้างสรรค์ เป็นกุศล และมุ่งทำกรรมดีที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คิดในทางที่ดี ไม่ทำลายเบียดเบียนบุคคล สังคม วัฒนธรรมประเทศชาติและสิ่งแวดล้อม การกระทำและคำพูดที่มาจากความคิดที่ดี การลดความขัดแย้งและการให้ขวัญและกำลังใจต่อกันเพื่อให้สังคมโดยส่วนรวมมีความสุข


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น