การสร้างเสริมจิตสำนึกต่อส่วนรวม

การสร้างเสริมจิตสำนึกต่อส่วนรวม
รัญจวน อินทรกำแหง (2528: 110 – 119) ชี้ถึงแนวทางในการเสริมสร้างจิตสำนึกของคนในสังคมว่า จะต้องเกิดขึ้นได้จากการคลุกคลีอยู่กับความถูกต้อง การปลูกฝัง อบรม การฝึกปฏิบัติการได้เห็นตัวอย่างที่ชวนให้ประทับใจ ปัจจัยเหล่านี้ค่อยๆ โน้มนำใจของบุคคลให้เกิดจิตสำนึกที่ถูกต้องและการสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวมให้เกิดขึ้น จำต้องอาศัยสถาบันทางสังคมหลายส่วนเข้ามาร่วมมือกันอาทิ
1. สถาบันการศึกษา การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาเป็นสิ่งที่ปฏิเสธกันไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในรูปใดจำต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษา จนมีการศึกษามากพอแก่สถานะแห่งตนที่จะสามารถปฏิบัติงานหรือดำเนินชีวิตไปสู่ทิศทางที่ประสงค์ การกำหนดเป้าหมายของการศึกษาให้ถูกต้องโดยธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่มีผู้มีอำนาจในการบริหารการศึกษาพึงพิจารณาให้ลึกซึ้ง ให้ถ่องแท้ ให้รอบคอบ ให้ถูกต้องด้วยทัศนะที่กว้างไกล โดยมีจุดหมายรวบยอดว่า ต้องจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกเป็นมนุษย์ที่เต็มที่ การจัดการศึกษาควรมุ่งเน้นที่การสร้างจิตสำนึกภายใน คือ การพัฒนาจิตสำนึกภายใน คือการพัฒนาจิตใจที่เป็นรากฐานของความเป็นมนุษย์ไม่ควรเน้นที่การพัฒนา เพื่อความสำเร็จในวิชาชีพที่ปราศจากพื้นฐานทางจริยธรรม เพราะอาจจะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลออกไปประกอบวิชาชีพด้วยจิตสำนึกผิดพลาดแล้วก็ไปสร้างระบบการทำงานที่ผิดมีการเอาเปรียบผู้อื่น กอบโกย ความหลงตัวเอง ความมัวเมาวนเวียนแต่ในวังวนวัตถุ ที่อาจจะก่อให้เกิดการประหัตประหารกันในทุกวงการ  การให้การศึกษาแก่ยุวชน ควรหยุดสร้างจิตสำนึกที่นิยมในวัตถุ แต่เน้นการสร้างจิตสำนึกในทางจริยธรรมให้หนักแน่นเข้มแข็งยิ่งขึ้นทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษาเพื่อให้เป็นจิตที่สามารถสร้างระบบถูกต้อง เพื่อการดำรงอยู่ของสังคมโดยธรรม โดยเฉพาะการดำรงเน้นการฝึกอบรมให้รู้จักทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างดีที่สุดฝีมือ ในทุกหน้าที่ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์
ด้วยความสำนึกว่า ทุกหน้าที่มีคุณค่าและความสำคัญเท่าเทียมกัน
2. สถาบันศาสนา สถาบันทางศาสนาต้องเป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวมให้เกิดขึ้น ต้องนำประชาชนกลับไปสู่คำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงเน้นให้เห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคมเป็นใหญ่ ไม่บริโภคเกินความจำเป็น หรือเพราะความอยาก มีความสันโดษ พอใจที่จะมีกินมีอยู่ มีใช้เท่าที่จำเป็น รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานแก่ผู้อื่น มีความเมตตาอาทรต่อกัน เห็นแก่ผู้อื่นเสมือนเห็นแก่ตนเอง รู้จักหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง สถาบันทางศาสนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นสถาบันที่ได้รับการเคารพบูชาแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อจิตใจของประชาชนเพราะต่างได้ยึดถือสถาบันนี้ เป็นที่พึ่งทางใจมาอย่างเนิ่นนาน ฉะนั้นสถาบันทางศาสนาจึงอยู่ในฐานะที่จะช่วยสร้างสรรค์และพัฒนาจิตใจของคนในสังคมให้หันเข้ามาอยู่ในความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและวิธีการพัฒนาจิตสำนึกให้เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด ก็คือการสอนด้วยตัวเอง อันหมายถึง การที่ผู้อยู่ในสถาบัน องค์การทางศาสนา พึงต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนในสังคมในด้านการช่วยเหลือส่วนรวม
3. สถาบันครอบครัว ความอบอุ่นของสถาบันครอบครัวมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ทารกจะเกิดจิตสำนึกเห็นความสำคัญของส่วนรวม ความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่กับลูก จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเลี้ยงอบรมลูก เพราะความใกล้ชิดจะเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และกลายเป็นเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกัน สถาบันครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานของสังคม ถ้าครอบครัวมีแต่ความคลอนแคลน สังคมก็พลอยคลอนแคลนไปด้วย และเด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่คลอนแคลนจะมีจิตสำนึกที่คลาดเคลื่อน การสอนและการอบรมจากสถาบันครอบครัว ควร
ดำเนินการให้สอดคล้องประสานไปในจุดหมายเดียวกันกับการสอนการอบรมของสถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา เพื่อปูพื้นฐาน หรือฝังรากให้เด็กมีจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฐิเสียตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อที่เด็กจะได้เป็นกำลังในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความร่มเย็นเป็นสุข
4. สื่อมวลชน สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในการกระจายความคิดความรู้ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสู่การรับรู้ของประชาชน ความร่วมมือจากสื่อมวลชนจะช่วยสร้างความเข้าใจช่วยสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องให้แก่คนในสังคม เนื่องจากสื่อมวลชนนั้นมีบทบาทและอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างการรับรู้ที่จะสั่งสมกลายเป็นจิตสำนึกของคนในสังคม การจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองจึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะช่วยให้คนในสังคมมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ที่จะนำไปสู่การก่อตัวของประชาสังคมการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองนี้ มิได้หมายถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนสำหรับประชากรวัยเรียน หรือการจัดการการศึกษาแบบเป็นทางการในรูปแบบอื่นๆ แต่ยังหมายถึงกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ทางตรงอย่างไม่เป็นทางการในชีวิตประจำวัน ซึ่งจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเครือข่ายสถาบัน และกระบวนการทางสังคมทีหลากหลายและต่อเนื่องทั้งในส่วนของสถาบันการศึกษาสถาบันครอบครัว องค์การเอกชน และองค์กรประชาสังคม ฯลฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น