ความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ

ความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ

     สมพงษ์ สิงหะพล (2542: 16) กล่าวว่า จิตสำนึกเป็นความรู้สึกนึกคิดภายในบุคคล และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยการเรียนรู้ จิตสำนึกเมื่อเกิดขึ้นแล้วยากนักที่จะหยุด หรือหมดหายไปคนที่มีจิตสำนึกที่ดีจะประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับจิตสำนึกนั้น และใช้จิตสำนึกของตน เพื่อประโยชน์ต่อสิ่งต่างๆ ตามมา เช่น บุคคลที่มีจิตสำนึกด้านระเบียบวินัย จะไม่ขับรถผิดกฎจราจรบุคคลที่มีจิตสำนึกสาธารณะจะไม่ขีดเขียนในสถานที่สาธารณะ และ ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2538: 77) กล่าวถึงการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมว่าเด็กช่วงแรกเกิดจนถึงก่อน 10 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กมีความไวต่อการรับการปลูกฝังและส่งเสริมจริยธรรม และวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่งเพราะเด็กยังเป็น “ไม้อ่อนที่ดัดง่าย” ฉะนั้น การปฏิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการทางร่างกาย และโดยเฉพาะเหมาะสมกับพัฒนาการทางจิตใจของเด็กจะเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ได้มากการที่คนมาอยู่รวมกันเป็นสังคม ย่อมต้องมีความสัมพันธ์ในรูปแบบการพึ่งพากัน คนในสังคมซึ่งมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปถ้าคนในสังคมขาดจิตสำนึกสาธารณะ ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว องค์กรแล้ว การขาดจิตสำนึกสาธารณะยังมีผลกระทบต่อชุมชนระดับประเทศ และระดับโลก ดังนี้ (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมและ สังคม สัญจร. 2543: 22 – 29)

ผลกระทบต่อบุคคล ทำให้เกิดปัญหา คือ
     1. สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง
     2. สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น
   
ผลกระทบระดับครอบครัว ทำให้เกิดปัญหา คือ
     1. ความสามัคคีในครอบครัวลดน้อยลง
     2. การแก่งแย่ง ทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว

ผลกระทบระดับองค์กร ทำให้เกิดปัญหา
    1. การแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในองค์กร
    2. ความเห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น
    3. การเบียดเบียนสมบัติขององค์กรเป็นสมบัติส่วนตน
    4. องค์กรไม่ก้าวหน้า ประสิทธิภาพและคุณภาพของงานลดลง
     นอกจากนั้นในระดับองค์กร วิรุณ ตั้งเจริญ (2547: 2 – 3) กล่าวว่า การเป็นผู้บริหารต้องมีคุณสมบัติหลายประการ คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งคือ การมีจิตสำนึกสาธารณะผู้บริหารควรเป็นผู้ที่เสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เอาสังคมเป็นตัวตั้ง เสียสละทั้งกำลังกายกำลังใจ กำลังศรัทธาหรือแม้แต่การเสียสละในเชิงวัตถุระดับหนึ่ง ถ้าผู้บริหารขาดจิตสำนึกสาธารณะจนกลายเป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน จะเกิดการเอาเปรียบองค์กร เห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มและพวกพ้อง องค์กรคงมีปัญหาอื่นๆ ตามมา

ในระดับชุมชน ทำให้เกิดปัญหา คือ
     1. ชุมชนอ่อนแอ ขาดการพัฒนา เพราะต่างคนต่างอยู่ สภาพชุมชน มีสภาพเช่นไรก็ยังคงเป็นเช่นนั้น ไม่เกิดการพัฒนา และยิ่งนานไปก็มีแต่เสื่อมทรุดลง
     2. อาชญากรรมในชุมชนอยู่ในระดับสูง
     3. ขาดศูนย์รวมจิตใจ ขาดผู้นำที่นำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะคนในชุมชนมองปัญหาของตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ ขาดคนอาสานำพาการพัฒนา เพราะกลัวเสียทรัพย์กลัวเสียเวลา หรือกลัวเป็นที่ครหาจากบุคคลอื่น

ในระดับชาติ  ถ้าบุคคลในชาติขาดจิตสำนึกสาธารณะจะทำให้เกิด
     1. วิกฤตการณ์ภายในประเทศบ่อยครั้ง และแก้ปัญหาไม่ได้ เกิดการเบียดเบียนทำลายทรัพยากรและสมบัติที่เป็นของส่วนรวม
     2. ประเทศชาติอยู่ในสภาพล้าหลัง เนื่องจากขาดพลังของคนในสังคม เมื่อผู้นำประเทศนำมาตรการใดออกมาใช้ ก็จะไม่ได้ผลเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
     3. เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดการแก่งแย่งแข่งขัน เห็นแก่ประโยชน์กลุ่มของตนและพวกพ้อง เกิดการทุจริตคอรัปชั่น

ในระดับโลก  ถ้าบุคคลขาดจิตสำนึก จะทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบระหว่างประเทศทำให้เกิดปัญหาในระดับต่างๆ ดังนี้
     1. เกิดการสะสมอาวุธกันระหว่างประเทศ เพราะขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันกลัวประเทศอื่นจะโจมตี จึงต้องมีอาวุธที่รุนแรง มีอานุภาพในการทำลายสูงไว้ในครอบครอง เพื่อข่มขู่ประเทศอื่น และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็มักมีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงของแสนยานุภาพทางการสงครามในการตัดสินปัญหา
     2. เกิดการกลั่นแกล้ง แก่งแย่งหรือครอบงำทางการค้าระหว่างประเทศ พยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดการได้เปรียบทางการค้าทำให้ประเทศด้อยกว่าขาดโอกาสในการพัฒนาประเทศของตน
     3. เกิดการรังเกียจเหยียดหยามคนต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ หรือต่างท้องถิ่นมองชนชาติอื่นๆ เผ่าพันธุ์อื่นว่ามีความเจริญหรือมีศักดิ์ศรีด้อยกว่าเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ของตนเอง ดูถูกหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติอื่นจากความสำคัญของการมีจิตสำนึกสาธารณะ ถ้าสามารถปลูกฝัง ส่งเสริมหรือพัฒนาให้เด็กมีจิตสำนึกด้านสาธารณะ ด้วยวิธีการต่างๆ จะทำให้เด็กมีจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อาสาดูแลรับผิดชอบสมบัติส่วนรวม มีการใช้อย่างสมบัติของส่วนรวมอย่างเห็นคุณค่าใช้อย่างทะนุถนอม รู้จักการแบ่งปันโอกาสในการใช้ของส่วนรวมให้ผู้อื่น เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ปัญหาที่เกิดการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ปัญหาการทำลายสาธารณะสมบัติต่างๆ จะลดลง การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์พวกพ้องก็จะลดน้อยลง และจะนำมาสู่สังคมที่มีความสงบสุขและพัฒนาขึ้น

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดจิตสาธารณะ

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดจิตสาธารณะ
การมีจิตสาธารณะนั้น เป็นสิ่งที่เกิดตามวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลสภาพแวดล้อมต่างๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน มีผลต่อการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของบุคคล ซึ่งไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมและ สังคม สัญจร (2543: 13) สรุปว่า จิตสำนึกสาธารณะ หรือจิตสำนึกทางสังคม อยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ดังนี้

ปัจจัยภายนอก เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับภาวะทางสัมพันธภาพของมนุษย์ ภาวะทางสังคมเป็นภาวะที่ลึกซึ้งที่มีผลต่อจิตสำนึกด้านต่างๆ ของมนุษย์ เป็นภาวะที่ได้อบรมกล่อมเกลา และสะสมอยู่ในส่วนของการรับรู้ทีละเล็กทีละน้อย ทำให้เกิดสำนึกที่มีรูปแบบหลากหลาย ภาวะแวดล้อมทางสังคมนี้ เริ่มตั้งแต่ พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน ครู สื่อมวลชน บุคคลทั่วไป ตลอดจนระดับองค์กร วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ กฎหมาย ศาสนา รวมทั้งภาวะแวดล้อมด้านสื่อสารมวลชน และส่วนที่กำกับสำนึกของบุคคล คือ การได้สัมผัสจากการใช้ชีวิตที่มีพลังต่อการเกิดสำนึก อาทิ การไปโรงเรียน ไปทำงาน
ดูละคร ฟังผู้คนสนทนากัน รับรู้เหตุการณ์บ้านเมือง ขับรถฝ่าการจราจรที่แออัด

ปัจจัยภายใน สำนึกที่เกิดจากปัจจัยภายใน หมายถึง การคิดวิเคราะห์ของแต่ละบุคคลในการพิจารณาตัดสินคุณค่าและความดีงาม ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมและการประพฤติปฏิบัติโดยเฉพาะการปฏิบัติทางจิตใจ เพื่อขัดเกลาตนเองให้เป็นไปทางใดทางหนึ่ง โดยเกิดจากการรับรู้จากการเรียนรู้การมองเห็น การคิด แล้วนำมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าต้องการสร้างสำนึกแบบใด ก็จะมีการฝึกฝนและสร้างสมสำนึกเหล่านั้น

การเกิดจิตสำนึกไม่สามารถสรุปแยกแยะได้ว่าเกิดจากปัจจัยภายในหรือภายนอกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะทุกสรรพสิ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน จิตสำนึกที่มาจากภายนอก เป็นการเข้ามาโดยธรรมชาติ กระทบต่อความรู้สึกของบุคคล แล้วกลายเป็นจิตสำนึกโดยธรรมชาติ และมักไม่รู้ตัวแต่จิตสำนึกที่เกิดจากปัจจัยภายในเป็นความจงใจเลือกสรร บุคคลระลึกรู้ตนเองเป็นอย่างดี เป็นสำนึกที่สร้างขึ้นเอง ระหว่างปัจจัยภายใน และภายนอก เป็นปฏิสัมพันธ์ที่มีความต่อเนื่องกัน ดังนั้น การพัฒนาจิตสำนึกจึงต้องกระทำควบคู่กันไปทั้งปัจจัยภายในและภายนอก

คุณลักษณะทั่วไปของบุคคลที่มีจิตสาธารณะ

คุณลักษณะทั่วไปของบุคคลที่มีจิตสาธารณะ
ยุทธนา วรุณปิติกุล (2542: 181 – 183) กล่าวถึง บุคคลที่มีจิตสำนึกสาธารณะว่า ต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้
1. การทุ่มเทและอุทิศตน มีความรับผิดชอบต่อสังคม บุคคลไม่เพียงแต่ปฏิบัติตามสิทธิเท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือให้บริการแก่บุคคลอื่น เพื่อพัฒนาสังคมด้วย อาทิ ถ้าต้องการให้ผู้แทนราษฎรมีความรับผิดชอบต่อความต้องการและประโยชน์ของประชาชนประชาชนก็ต้องให้ความใส่ใจและติดตาม ไม่เพียงทำการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ต้องเสียสละเวลาให้ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเมืองระดับท้องถิ่นและในสถาบันต่างๆ
2. เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล จากกระแสปัจเจกชนนิยม ส่งผลให้คนในสังคมมีลักษณะปิดกั้นตนเอง ไม่ไว้วางใจผู้อื่น เลือกคบเฉพาะกลุ่มที่มีความเหมือนกันไม่สนใจการเมืองทำให้ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจของสังคม เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเกิดข้อขัดแย้งการยุติข้อขัดแย้งโดยการฟังเสียงข้างมาก ไม่นำไปสู่ประโยชน์ของส่วนรวม ดังนั้น ผู้มีจิตสำนึกสาธารณะต้องเป็นพลเมืองในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ มีความอดทนตระหนักว่า การมีส่วนร่วมไม่ทำให้ได้อย่างที่ต้องการเสมอไป ต้องเคารพและยอมรับความแตกต่างที่หลากหลาย และหาวิธีอยู่ร่วมกับความ
ขัดแย้ง โดยการแสวงหาทางออกร่วมกัน การจำแนกประเด็นปัญหา การใช้เหตุผลในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การตัดสินใจ ต้องมีการพูดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันให้มากที่สุด เพื่อหาข้อยุติสร้างการเข้าร่วมรับรู้ ตัดสินใจและผนึกกำลัง เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย
3. คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม คนในสังคมต้องคิดถึงการเมืองในฐานะกิจการเพื่อส่วนรวมและเพื่อคุณธรรมมากขึ้น
4. การลงมือกระทำ การวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นต้องลงมือกระทำ โดยเริ่มจากครอบครัวในการวางพื้นฐานให้การอบรมด้านจริยธรรมของพลเมือง สถาบันการศึกษาไม่เพียงเป็นสถานที่ฝึกทักษะ และให้ความรู้ต้องรับช่วงต่อในการสร้างค่านิยมที่เหมาะสมต่อจากครอบครัวรวมทั้ง เครือข่ายสังคมที่เกิดขึ้น ระหว่างเพื่อนบ้าน ที่ทำงาน สโมสร สมาคมต่างๆ เชื่อมโยงบุคคลที่สนใจเรื่องของตนเข้าเป็นกลุ่มที่ใส่ใจผู้อื่น ช่วยดำรงรักษาประชาคม สังคมและกฎจริยธรรม รวมทั้งสถาบันที่มีอิทธิพลสูงต่อสังคม คือ สถาบันศาสนา และสื่อมวลชนนับว่า มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างให้สังคมเข้มแข็ง

องค์ประกอบของจิตสาธารณะ

องค์ประกอบของจิตสาธารณะ
องค์ประกอบของจิตสำนึกสาธารณะ หรือจิตสาธารณะนั้น มีการแบ่งองค์ประกอบที่แตกต่างกันไปตามระดับอายุของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ซึ่งได้แบ่งองค์ประกอบของจิตสำนึก ไว้ ดังนี้
สมพงษ์ สิงหะพล (2542: 15 – 16) ได้กล่าวถึงจิตสำนึกว่า มีอยู่ 3 ด้านหลักๆ คือ1. จิตสำนึกเกี่ยวกับตนเอง (Self Consciousness) เป็นจิตสำนึกเพื่อพัฒนาตนเองทำให้ตนเองเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จิตสำนึกด้านนี้ การศึกษาไทยมุ่งมั่นปลูกฝังมานาน เกิดบ้างไม่เกิดบ้าง ไปตามสภาพการณ์ เป็นจิตสำนึกแบบคลาสสิกที่ทุกสังคมพยายามเหมือนกันที่จะ สร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ เช่น ความขยัน ความรับผิดชอบ ความมานะอดทน เป็นต้น เป็นจิตสำนึกที่ถูกปลูกฝัง
และมีมานานตามสภาพสังคมไทย
2. จิตสำนึกเกี่ยวกับผู้อื่น (Others Oriented Consciousness) เป็นจิตสำนึกของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของคนในกลุ่มชนหนึ่ง สังคมหนึ่ง เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสามัคคี เป็นต้น เป็นจิตสำนึกที่คนไทยส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมมาจากพื้นฐานดั้งเดิมของวัฒนธรรมไทยอยู่แล้วสร้างกันได้ไม่ยากนัก
3. จิตสำนึกเกี่ยวกับสังคม หรือจิตสำนึกสาธารณะ (Social or Public Consciousness) เป็นจิตสำนึกที่ตระหนักถึงความสำคัญในการอยู่ร่วมกัน หรือคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมความสัมพันธ์ เป็น กลุ่มเดียวกัน เป็นจิตสำนึกที่คนไทยยังไม่ค่อยมี และขาดกันอยู่มาก เพราะพื้นฐานความเป็นมาของสังคมไทย สมควรที่จะรีบพัฒนาขึ้นโดยเร็ว เช่น จิตสำนึกด้านเศรษฐกิจ จิตสำนึกด้านการเมือง จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม จิตสำนึกด้านสุขภาพ เป็นต้น
นอกจากนั้นมีการศึกษาองค์ประกอบของจิตสาธารณะ ในลักษณะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์สาธารณสมบัติต่างๆ มีการศึกษาองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป และใช้คำที่แตกต่างกันไปตามระดับอายุของกลุ่มที่ศึกษา ดังรายละเอียด ดังนี้
สิริมา ภิญโญอนันตพงษ์ (2544: 26 – 31) ได้กล่าวถึงจิตสาธารณะของเด็กในลักษณะของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ว่า วัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ปี เป็นระยะที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ สังคม และบุคลิกภาพ เป็นวัยที่เรียกว่า ช่วงแห่งพลังการเจริญเติบโต งอกงามสำหรับชีวิต แนวความคิดเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากการมองเด็กในทัศนะของการที่เด็กมีพัฒนาการด้านต่างๆ แตกต่างจากเด็กวัยอื่นๆ ในช่วงชีวิตของความเป็นมนุษย์ ดังนั้น หลักการปลูกฝัง เด็กวัยนี้ให้เรียนรู้เกิดความรักสิ่งแวดล้อม ควรคำนึงถึงองค์ประกอบ ดังนี้
1. หลักการเรียนรู้ การเรียนรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยอาศัยสภาพการณ์ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับ การเรียนรู้จะทำให้มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
2. กระบวนการปลูกฝังเด็กปฐมวัยให้รักสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ปัจจัย 5 ด้าน คือการให้ความรู้ การสร้างความเข้าใจ การสร้างกรอบแนวคิด การเสริมสร้างทักษะ และการเสริมสร้างเจตคติ จากกระบวนการดังกล่าว จะต้องเริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยในลักษณะของรูปธรรม แล้วสร้างความเข้าใจ และความสำคัญของสิ่งแวดล้อมต่อตนเองและมนุษย์ แล้วสร้างกรอบแนวคิดให้เด็กรับรู้ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นบริบท และเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การเสริมสร้างทักษะในการรักสิ่งแวดล้อม ต้องเกิดจากการจัดประสบการณ์ต้องให้เด็กได้ปฏิบัติจริง และควบคู่กับการเสริมสร้างเจตคติที่ดี รู้จักการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเห็นคุณค่าประโยชน์สิ่งแวดล้อมต่อตัวเอง ครอบครัว และ
สังคม เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ไม่เห็นแก่ตัว เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำเป็นตัวแบบที่ดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
กรมวิชาการ (2540: 27) ได้กล่าวไว้ในคู่มือการอบรมเลี้ยงดูเด็กระดับก่อนประถมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ โดยได้ระบุถึงเป้าหมายที่พึงประสงค์ จะให้เกิดในเด็กวัย 3 – 6 ปี ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจนตามระดับอายุดังนี้ คือ
วัย 3 – 4 ปี ทิ้งขยะให้ถูกที่ ไม่ทำลายสิ่งของเครื่องใช้ส่วนรวม
วัย 4 – 5 ปี ทิ้งขยะให้ถูกที่ รักษาสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน
วัย 5 – 6 ปี ทิ้งขยะให้ถูกที่ ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
กอบรัตน์ เรืองผกา (2532: 807 – 808) ได้สรุปถึงพฤติกรรมการรักสิ่งแวดล้อมของเด็กระดับปฐมวัย มีขอบข่ายครอบคลุมพฤติกรรมใหญ่ๆ 3 ด้าน คือ
1. การรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่ในสภาพดี ได้แก่ การรักษาความสะอาดสถานที่สิ่งของเครื่องใช้ การดูแลสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพดี การช่วยกันดูแลไม่ให้สิ่งของเครื่องใช้สูญหาย เป็นต้น
2. การถนอมใช้ทรัพยากรจากสิ่งแวดล้อมอย่างประหยัด อย่างมีคุณค่า เช่น การปิดไฟและปิดน้ำ เมื่อใช้เสร็จแล้ว การเปิดน้ำ ล้างมือเบาๆ การใช้วัสดุส่วนรวมอย่างประหยัด และเกิดคุณค่าอย่างเต็มที่ เช่น ใช้สีน้ำจากหลอด ควรบีบใช้ทีละน้อย ใช้กระดาษเขียนหนังสือให้เต็มหน้ากระดาษค่อยใช้หน้าใหม่ การหยิบใช้กระดาษ เช็ดหน้า เช็ดมือ ควรหยิบใช้ให้พอเหมาะหรือการรับประทานอาหารให้หมดอย่าเหลืออาหารทิ้งไว้
3. การจัดสิ่งแวดล้อมให้ดูสวยงาม และเป็นระเบียบ ได้แก่ การจัดห้องเรียนให้เป็นระเบียบ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ การจัดสวนดอกไม้ เป็นต้นจากการศึกองค์ประกอบของการมีจิตสำนึกสาธารณะในระดับก่อนประถมศึกษานั้น จะใช้คำว่าการรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของการมีจิตสำนึกสาธารณะ
ส่วนในระดับเด็กระดับประถมศึกษา หรือระดับอายุที่มากขึ้น มีการศึกษาเกี่ยวกับจิตสำนึกสาธารณะโดยใช้คำที่แตกต่างกันไป เช่น จิตสำนึกทางสังคม จิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติ จิตสำนึกต่อส่วนรวมโดยมีรายละเอียดองค์ประกอบที่ศึกษาแตกต่างกันไป ดังนี้
ชาย โพธิสิตา (2540: 14) ได้ศึกษาเรื่องจิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติ : ศึกษาในกรณีกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างหลายกลุ่ม คือ กลุ่มทำงานราชการ รัฐวิสาหกิจหรือทำงานสำนักงาน กลุ่มที่ทำงานรับจ้าง งานค้าขาย และธุรกิจส่วนตัว กลุ่มนักศึกษาที่สูงกว่ามัธยม และผู้ทรงคุณวุฒิโดยได้จัดองค์ประกอบของจิตสำนึกต่อสาธารณสมบัติ 4 ด้าน คือ
1. ด้านความเข้าใจเกี่ยวกับสาธารณะสมบัติ
2. ด้านภาพสะท้อนจิตสำนึกต่อสาธารณสมบัติ
3. ด้านมาตรการเสริมสร้างจิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติ
4. ด้านนโยบายและการบริหารจัดการ
โดยใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม แบบทดสอบแบบสั้น แบบสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์แบบสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และได้สรุปความหมาย จิตสำนึกต่อสาธารณสมบัติในเชิงพฤติกรรม ไว้ว่า คือ การใช้สมบัติอย่างรับผิดชอบหรือการรับผิดชอบต่อสาธารณสมบัติซึ่งมีนัยสองประการ ได้แก่
     1. รับผิดชอบต่อสาธารณสมบัติ ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้ และการกระทำที่จะก่อให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อสาธารณสมบัตินั้นๆ รวมไปถึงการถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลสาธารณสมบัติในวิสัยที่ตนสามารถทำได้
     2. การเคารพสิทธิในการใช้สาธารณสมบัติของผู้อื่น เพราะสาธารณสมบัติ คือ ของที่คนทั่วไปมีสิทธิ์ในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ ดังนั้นการใช้สาธารณสมบัติอย่างรับผิดชอบในแง่นี้จึงหมายถึงการใช้ของส่วนรวม โดยการคำนึงถึงว่าคนอื่นก็มีสิทธิ์ในการใช้เช่นเดียวกัน จะต้องไม่ยึดสาธารณสมบัตินั้นไว้เป็นของส่วนตัว และไม่ปิดกั้นโอกาสในการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น

หฤทัย อาจปุระ  (2544: 46) ได้ใช้องค์ประกอบของการมีจิตสำนึกสาธารณะของนักศึกษาพยาบาลปี 1 – 4 ในสถาบันการศึกษาพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาองค์ประกอบ การมีจิตสำนึกสาธารณะใน 6 ด้าน คือ
1. ด้านความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
2. ด้านการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
3. ด้านความรัก ความเอื้ออาทร และความสามัคคี
4. ด้านการรับรู้ และความสามารถในการผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
5. ด้านการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาสังคม
6. ด้านการมีเครือข่ายในการนำกิจกรรมทางสังคม

ลัดดาวัลย์ เกษมเนตร (2547: 2 – 3) ได้ศึกษารูปแบบการพัฒนานักเรียนระดับประถมศึกษาให้มีจิตสาธารณะ : การศึกษาระยะยาว และใช้องค์ประกอบของจิตสาธารณะเป็น 3 องค์ประกอบ คือ
1. การหลีกเลี่ยงการใช้ หรือการกระทำ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อของส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม
2. การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสมบัติของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้
3. การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม โดยไม่ยึดครองของส่วนรวมนั้นมาเป็นของตนเอง ตลอดจนไม่ปิดกั้นโอกาสของบุคคลอื่นที่จะใช้ของส่วนรวมจากการศึกษาองค์ประกอบของจิตสำนึกสาธารณะ จากเอกสารและงานวิจัยดังกล่าว มีการศึกษาจิตสาธารณะในองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้องค์ประกอบของการมีจิตสำนึกสาธารณะ จากการนิยามความหมายของจิตสาธารณะของ
 ชาย โพธิสิตา (2540: 14 – 15) และการแบ่งองค์ประกอบของจิตสาธารณะจากงานวิจัยของลัดดาวัลย์  เกษมเนตร (2546: 2 – 3) ที่ศึกษากับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะองค์ประกอบดังกล่าวสอดคล้องกับพัฒนาการทางด้านต่างๆ ของเด็กวัยที่ผู้วิจัยศึกษาและสมบัติของส่วนรวมที่ผู้วิจัยศึกษาในครั้งนี้ เป็นสมบัติส่วนรวมที่อยู่ในโรงเรียน ทั้งสมบัติส่วนรวมในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ซึ่งแบ่งองค์ประกอบของจิตสาธารณะเป็น 3 องค์ประกอบ 6 ตัวชี้วัด คือ
1. การหลีกเลี่ยงการใช้ หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสมบัติของส่วนรวมในโรงเรียนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม หมายถึง การกระทำของนักเรียนในการรักษาทรัพย์สินการดูแลรักษาความสะอาด การไม่ทำลายทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติในโรงเรียน ทั้งในห้องเรียนเช่น โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ ชั้นวางหนังสือ ถังขยะ ไม้กวาด เป็นต้น และสมบัตินอกห้องเรียน เช่น ห้องอาหาร ห้องสุขา ห้องปฏิบัติการต่างๆ ห้องสมุด สวนหย่อมในบริเวณโรงเรียน สนามเด็กเล่น เป็นต้น โดยวัดได้จาก 2 ตัวชี้วัดคือ
     1.1 การดูแลรักษาสมบัติของส่วนรวมในโรงเรียน คือ เมื่อมีการใช้แล้ว มีการเก็บรักษา ใช้แล้วเก็บเข้าที่เดิม การไม่ทิ้งเศษขยะในห้องเรียนและบริเวณโรงเรียน การไม่ขีดเขียนหรือทำลายวัสดุและอุปกรณ์ในห้องเรียนและในโรงเรียน เพื่อให้ของส่วนรวมอยู่ในสภาพดี เช่น การใช้ไม้กวาดแล้วเก็บเข้าที่เดิม การใช้หนังสือในห้องสมุดแล้วเก็บเข้าที่ การใช้อุปกรณ์กีฬาแล้วนำส่งคืน การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แล้วปิดเครื่องและจัดเข้าที่เดิม
     1.2 ลักษณะของการใช้ คือ การใช้ของส่วนรวมในโรงเรียนอย่างประหยัด ใช้อย่างทะนุถนอม ใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้ของส่วนรวมมีความคงทนใช้ได้นาน เช่น การเปิดอ่านหนังสือเบาๆ การใช้แก้วน้ำรองน้ำดื่ม การปิดไฟและพัดลมก่อนออกจากห้อง การใช้แป้นเครื่องคอมพิวเตอร์เบาๆ
2. การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้ หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงออกถึง การมุ่งปฏิบัติเพื่อส่วนรวมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในโรงเรียน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่ตนสามารถทำได้ โดยวัดได้จาก 2 ตัวชี้วัด คือ
     2.1 การปฏิบัติตามหน้าที่ ที่ถูกกำหนดในการดูแลรักษาสมบัติของส่วนรวม ในโรงเรียน คือ การทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการให้ดูแลรักษาสมบัติของโรงเรียน เช่น การทำหน้าที่เวรทำความสะอาดห้องเรียน การทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนการดูแลห้องสมุด และการดูแลห้องปฏิบัติการอื่นๆที่ได้รับมอบหมาย
     2.2 การอาสาปฏิบัติหน้าที่บางอย่างเพื่อส่วนรวมในโรงเรียน คือ การช่วยทำหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในวิสัยที่ตนสามารถทำได้ เช่น การอาสานำขยะไปทิ้ง การอาสาช่วยเก็บสิ่งของ การอาสากวาดห้องเรียนหรือบริเวณโรงเรียน
3. การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวมในโรงเรียนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มโดยไม่ยึดครองของส่วนรวมนั้นมาเป็นของตนเอง ตลอดจนไม่ปิดกั้นโอกาสของบุคคลอื่นที่จะใช้ของส่วนรวมนั้น หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงออกถึง การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวม โดยวัดได้จาก 2 ตัวชี้วัด คือ
     3.1 การไม่ยึดครองของส่วนรวมในโรงเรียนมาเป็นสมบัติของตนเองคือ การไม่นำสมบัติของโรงเรียนมาเก็บไว้ที่ตน เช่น การไม่นำสีของโรงเรียนไประบายภาพที่บ้านการไม่นำอุปกรณ์กีฬาไปเล่นที่บ้าน
     3.2 การแบ่งปัน หรือการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้ใช้ของส่วนรวมในโรงเรียน คือ การแบ่งปันสิ่งของกับผู้อื่น การไม่แสดงอาการหึงหวงสมบัติของส่วนรวม เช่น การไม่นำหนังสือห้องสมุดมาเก็บไว้ที่ตนหลายๆ เล่ม การเปลี่ยนให้เพื่อนใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อตนใช้เสร็จ

การสร้างเสริมจิตสำนึกต่อส่วนรวม

การสร้างเสริมจิตสำนึกต่อส่วนรวม
รัญจวน อินทรกำแหง (2528: 110 – 119) ชี้ถึงแนวทางในการเสริมสร้างจิตสำนึกของคนในสังคมว่า จะต้องเกิดขึ้นได้จากการคลุกคลีอยู่กับความถูกต้อง การปลูกฝัง อบรม การฝึกปฏิบัติการได้เห็นตัวอย่างที่ชวนให้ประทับใจ ปัจจัยเหล่านี้ค่อยๆ โน้มนำใจของบุคคลให้เกิดจิตสำนึกที่ถูกต้องและการสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวมให้เกิดขึ้น จำต้องอาศัยสถาบันทางสังคมหลายส่วนเข้ามาร่วมมือกันอาทิ
1. สถาบันการศึกษา การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาเป็นสิ่งที่ปฏิเสธกันไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในรูปใดจำต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษา จนมีการศึกษามากพอแก่สถานะแห่งตนที่จะสามารถปฏิบัติงานหรือดำเนินชีวิตไปสู่ทิศทางที่ประสงค์ การกำหนดเป้าหมายของการศึกษาให้ถูกต้องโดยธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่มีผู้มีอำนาจในการบริหารการศึกษาพึงพิจารณาให้ลึกซึ้ง ให้ถ่องแท้ ให้รอบคอบ ให้ถูกต้องด้วยทัศนะที่กว้างไกล โดยมีจุดหมายรวบยอดว่า ต้องจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกเป็นมนุษย์ที่เต็มที่ การจัดการศึกษาควรมุ่งเน้นที่การสร้างจิตสำนึกภายใน คือ การพัฒนาจิตสำนึกภายใน คือการพัฒนาจิตใจที่เป็นรากฐานของความเป็นมนุษย์ไม่ควรเน้นที่การพัฒนา เพื่อความสำเร็จในวิชาชีพที่ปราศจากพื้นฐานทางจริยธรรม เพราะอาจจะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลออกไปประกอบวิชาชีพด้วยจิตสำนึกผิดพลาดแล้วก็ไปสร้างระบบการทำงานที่ผิดมีการเอาเปรียบผู้อื่น กอบโกย ความหลงตัวเอง ความมัวเมาวนเวียนแต่ในวังวนวัตถุ ที่อาจจะก่อให้เกิดการประหัตประหารกันในทุกวงการ  การให้การศึกษาแก่ยุวชน ควรหยุดสร้างจิตสำนึกที่นิยมในวัตถุ แต่เน้นการสร้างจิตสำนึกในทางจริยธรรมให้หนักแน่นเข้มแข็งยิ่งขึ้นทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษาเพื่อให้เป็นจิตที่สามารถสร้างระบบถูกต้อง เพื่อการดำรงอยู่ของสังคมโดยธรรม โดยเฉพาะการดำรงเน้นการฝึกอบรมให้รู้จักทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างดีที่สุดฝีมือ ในทุกหน้าที่ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์
ด้วยความสำนึกว่า ทุกหน้าที่มีคุณค่าและความสำคัญเท่าเทียมกัน
2. สถาบันศาสนา สถาบันทางศาสนาต้องเป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวมให้เกิดขึ้น ต้องนำประชาชนกลับไปสู่คำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงเน้นให้เห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคมเป็นใหญ่ ไม่บริโภคเกินความจำเป็น หรือเพราะความอยาก มีความสันโดษ พอใจที่จะมีกินมีอยู่ มีใช้เท่าที่จำเป็น รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานแก่ผู้อื่น มีความเมตตาอาทรต่อกัน เห็นแก่ผู้อื่นเสมือนเห็นแก่ตนเอง รู้จักหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง สถาบันทางศาสนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นสถาบันที่ได้รับการเคารพบูชาแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อจิตใจของประชาชนเพราะต่างได้ยึดถือสถาบันนี้ เป็นที่พึ่งทางใจมาอย่างเนิ่นนาน ฉะนั้นสถาบันทางศาสนาจึงอยู่ในฐานะที่จะช่วยสร้างสรรค์และพัฒนาจิตใจของคนในสังคมให้หันเข้ามาอยู่ในความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและวิธีการพัฒนาจิตสำนึกให้เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด ก็คือการสอนด้วยตัวเอง อันหมายถึง การที่ผู้อยู่ในสถาบัน องค์การทางศาสนา พึงต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนในสังคมในด้านการช่วยเหลือส่วนรวม
3. สถาบันครอบครัว ความอบอุ่นของสถาบันครอบครัวมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ทารกจะเกิดจิตสำนึกเห็นความสำคัญของส่วนรวม ความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่กับลูก จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเลี้ยงอบรมลูก เพราะความใกล้ชิดจะเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และกลายเป็นเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกัน สถาบันครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานของสังคม ถ้าครอบครัวมีแต่ความคลอนแคลน สังคมก็พลอยคลอนแคลนไปด้วย และเด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่คลอนแคลนจะมีจิตสำนึกที่คลาดเคลื่อน การสอนและการอบรมจากสถาบันครอบครัว ควร
ดำเนินการให้สอดคล้องประสานไปในจุดหมายเดียวกันกับการสอนการอบรมของสถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา เพื่อปูพื้นฐาน หรือฝังรากให้เด็กมีจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฐิเสียตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อที่เด็กจะได้เป็นกำลังในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความร่มเย็นเป็นสุข
4. สื่อมวลชน สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในการกระจายความคิดความรู้ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสู่การรับรู้ของประชาชน ความร่วมมือจากสื่อมวลชนจะช่วยสร้างความเข้าใจช่วยสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องให้แก่คนในสังคม เนื่องจากสื่อมวลชนนั้นมีบทบาทและอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างการรับรู้ที่จะสั่งสมกลายเป็นจิตสำนึกของคนในสังคม การจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองจึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะช่วยให้คนในสังคมมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ที่จะนำไปสู่การก่อตัวของประชาสังคมการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองนี้ มิได้หมายถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนสำหรับประชากรวัยเรียน หรือการจัดการการศึกษาแบบเป็นทางการในรูปแบบอื่นๆ แต่ยังหมายถึงกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ทางตรงอย่างไม่เป็นทางการในชีวิตประจำวัน ซึ่งจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเครือข่ายสถาบัน และกระบวนการทางสังคมทีหลากหลายและต่อเนื่องทั้งในส่วนของสถาบันการศึกษาสถาบันครอบครัว องค์การเอกชน และองค์กรประชาสังคม ฯลฯ


การก่อรูปของจิตสำนึก

การก่อรูปของจิตสำนึก
นักจิตวิทยาการศึกษา มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จิตสำนึกเป็นคุณลักษณะทางจิตพิสัยที่ปรากฏ หรือก่อรูปขึ้นในจิตใจของมนุษย์แต่ละคนภายหลังได้รับรู้ปรากฏการณ์ หรือได้รับสิ่งเร้าจากภายนอกในเชิงสะสม การก่อรูปที่มีความต่อเนื่องกันจึงยากที่จะกำหนดแยกแยะหรือทำการจัดลำดับชั้นเพื่อบ่งชี้ว่า บุคคลมีความรู้สึกอยู่ที่ใดได้ชัดเจน แน่นอน การก่อรูปของจิตสำนึกยังเกี่ยวกันกับคุณลักษณะทางด้านสติปัญญาและการกระทำของมนุษย์อีกด้วย หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าจิตสำนึกเป็นผลลัพธ์เชิงคุณลักษณะทางจิตใจของมนุษย์ที่ก่อรูปขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้ของบุคคล ซึ่งกระบวนการเรียนรู้นี้ มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่
1. คุณลักษณะทางด้านพุทธิพิสัย หมายถึง การได้รับรู้ (Cognition) หรือการมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้บุคคลรู้จักหรือระลึกถึงมีความเข้าใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินคุณค่าของสิ่งดังกล่าวได้ และนำไปสู่การก่อรูปของจิตสำนึก
2. คุณลักษณะด้านจิตพิสัย หมายถึง ความรู้สึกทางจิตใจ (Affection) อันได้แก่การมีความสนใจหรือใฝ่ใจในสิ่งดังกล่าว โดยมีปฏิกิริยาสนองตอบการเห็นหรือให้คุณค่า การจัดระบบของคุณค่าและสร้างเป็นคุณลักษณะนิสัยที่นำไปสู่จิตสำนึก
3. คุณลักษณะทางด้านทักษะพิสัยที่หมายถึง พฤติกรรม (Behavior) หรือการแสดงออกที่สามารถจะสังเกตรูปแบบความประพฤติได้อย่างชัดเจนที่เรียกว่า บุคลิกภาพจิตสำนึกของบุคคลจึงเป็นผลการเรียนรู้ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งเร้า การรับรู้ ในส่วนนี้ได้ก่อขึ้นในจิตใจของบุคคลในรูปของความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรม เป็นคุณลักษณะทางจิตที่ก่อรูปผ่านกระบวนการทางปัญญาเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อปรากฏการณ์ทางสังคม

รูปแบบของจิตสาธารณะ

รูปแบบของจิตสาธารณะ
รูปแบบของจิตสาธารณะหรือจิตสำนึกสาธารณะนั้น มีการแบ่งรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามระดับอายุของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ซึ่งแบ่งรูปแบบของจิตสำนึกไว้ ดังนี้ สมพงษ์ สิงหะพล (2542: 15 – 16) ได้กล่าวถึงจิตสำนึกว่ามีอยู่ 3 ด้านหลักๆ คือ
     1. จิตสำนึกเกี่ยวกับตนเอง (Self Consciousness) เป็นจิตสำนึกเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้ตนเองเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จิตสำนึกด้านนี้ การศึกษาไทยมุ่งมั่นปลูกฝังมานานเกิดบ้างไม่เกิดบ้างไปตามสภาพการณ์ เป็นจิตสำนึกแบบคลาสสิกที่ทุกสังคมพยายามเหมือนกันที่จะสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ เช่น ความขยัน ความรับผิดชอบ ความมานะอดทน เป็นต้น เป็นจิตสำนึกที่ถูกปลูกฝัง และมีมานานตามสภาพสังคมไทย
     2. จิตสำนึกเกี่ยวกับผู้อื่น (Others Oriented Consciousness) เป็นจิตสำนึกของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของคนในกลุ่มชนหนึ่ง สังคมหนึ่ง เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสามัคคี เป็นต้น เป็นจิตสำนึกที่คนไทยส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมมาจากพื้นฐานดั้งเดิมของวัฒนธรรมไทยอยู่แล้วสร้างกันได้ไม่ยากนัก
     3. จิตสำนึกเกี่ยวกับสังคมหรือจิตสำนึกสาธารณะ (Social or Public Consciousness) เป็นจิตสำนึกที่ตระหนักถึงความสำคัญในการอยู่ร่วมกัน หรือคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมความสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นจิตสำนึกที่คนไทยยังไม่ค่อยมี และขาดกันอยู่มาก เพราะพื้นฐานความเป็นมาของสังคมไทยสมควรที่จะรีบพัฒนาขึ้นโดยเร็ว เช่น จิตสำนึกด้านเศรษฐกิจ จิตสำนึกด้านการเมือง จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม จิตสำนึกด้านสุขภาพ เป็นต้น